การศึกษาระบบทวิภาคี

ความหมายของทวิภาคี

สำนักงานโครงการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี กรมอาชีวศึกษา (2541, หน้า 2) ได้ให้ความหมายไว้ว่า การจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี (Dual Vocational Training หรือ DVT) คือการจัดการศึกษาโดยอาศัยความร่วมมือกันของสองฝ่าย จึงเป็นรูปแบบของการจัดอาชีวศึกษา ที่อยู่ในลักษณะของความร่วมมือในที่นี้คือ เป็นลักษณะสองฝ่าย ระหว่างสถานประกอบการและสถานศึกษาร่วมกันฝึกพนักงานให้มีคุณภาพ สองสถานที่ โรงงาน (เน้นในการฝึกทักษะ) และในชั้นเรียน (เน้นในการเรียนด้านทฤษฎี) เพื่อสองวัตถุประสงค์ ได้ฝึกงานที่เกี่ยวข้องกับทักษะและได้รับประกาศนียบัตรวิชาชีพ
เฉลิมศักดิ์  นามเชียงใต้ (2541, หน้า 9) ได้ให้ความหมายการจัดการอาชีวศึกษาระบบ    ทวิภาคี เป็นการจัดระบบคู่ ดำเนินการฝึกอาชีพให้แก่เยาวชนของชาติ โดยความร่วมมือของสถานศึกษาและ สถานประกอบการ
ไอมูว (iMOVE, 2002, p.27)  กล่าวว่า  การจัดอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี เป็นการจัดฝึกสอง แห่งควบคู่กัน คือ ในสถานประกอบการที่ผู้เข้ารับการฝึกอาชีพที่จะเรียนรู้ภาคปฏิบัติ และสถานศึกษาสำหรับภาคทฤษฎี
สงวน  บุญปิยทัศน์ (2544, หน้า 11)  ได้กล่าวว่า การจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี เป็นการร่วมกันระหว่างสถานศึกษากับสถานประกอบการ ร่วมกันทำกิจกรรม การรับนักเรียน เพื่อจะฝึกร่วมกัน และเป็นนักเรียนสองเรื่องในตัวคนเดียวกัน คือเป็นทั้งนักเรียนและช่างฝึกอาชีพหรือพนักงานของสถานประกอบการ

จุดมุ่งหมายของการดำเนินการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี
การจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี เป็นการร่วมมือกันระหว่างสถานศึกษากับสถาน ประกอบการ โดยที่นักเรียนจะมีสถานะเป็นนักเรียนระบบทวิภาคีและนักเรียนฝึกอาชีพซึ่งจะเกิด ผลดีทั้งสองฝ่าย สถานศึกษาบางแห่งได้ดำเนินการจัดการระบบนี้มาตั้งแต่เริ่มต้น ขณะที่บาง   สถานศึกษากำลังจะได้เริ่มดำเนินการ  การจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีมีจุดมุ่งหมายของการดำเนินการ พอสรุปได้ดังนี้ (สำนักงานโครงการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี, 2541; มันน์, 1999)
1.    เพื่อจัดเตรียมกำลังคนทางด้านอาชีวศึกษาเข้าสู่ตลาดแรงงาน
2.    เพื่อผลิตช่างฝีมือผู้มีความชำนาญงานเพียงพอทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ
3.    เพื่อผลิตกำลังคนที่ตรงตามความต้องการของสถานประกอบการ
4.    เพื่อจัดการสร้างระบบการจัดการศึกษาวิชาชีพระบบนี้ขึ้นมาเพื่อเป็นการให้โอกาสในการศึกษาวิชาชีพแก่เยาวชนที่สำเร็จการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น
5.    เพื่อเปิดโอกาสให้บุคคลในวัยเรียนและวัยทำงานพัฒนาตนเองทางด้านวิชาชีพอย่างต่อเนื่อง
6.    เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับสถานศึกษา ในการเข้าสู่ระบบการปฏิรูปทางการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542
7.    เพื่อเป็นการลดปัญหาในเรื่องงบประมาณในการจัดการศึกษาทางด้านอาชีวศึกษา
8.    เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้การปฏิบัติโดยแท้จริงและมีเนื้อหาที่ทันต่อเทคโนโลยี
9.    เพื่อส่งเสริมให้มีการประกอบอาชีพ การจ้างงานและอาชีพอิสระ

แนวปฏิบัติสำหรับบุคลากรประจำหน่วยงาน / สถานประกอบการ

1. แนวปฏิบัติสำหรับฝ่ายบริหารของหน่วยงาน / สถานประกอบการ

– พิจารณาการตอบรับนักศึกษาเข้าฝึกประสบการณ์วิชาชีพและแจ้งให้วิทยาลัยทราบ

– จัดผู้นิเทศประจำหน่วยงานเพื่อให้คำแนะนำและบริการสวัสดิการให้กับนักศึกษาตามความเหมาะสม

–  ให้การตอบรับ  ชี้แจงระเบียบข้อบังคับ  แนะนำสถานที่และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง

– ส่งตัวนักศึกษากลับวิทยาลัย  เมื่อเสร็จสิ้นการฝึกประสบการณ์วิชาชีพ

2. แนวปฏิบัติสำหรับผู้ควบคุมการฝึกประสบการณ์วิชาชีพ

–  ให้คำปรึกษาแก่นักศึกษาในการปฏิบัติงาน

–  ประสานงานและควบคุมดูแลการฝึกประสบการณ์ของนักศึกษา

–  ปรึกษาหารือกับอาจารย์นิเทศในเรื่อง  จุดประสงค์  ขอบข่ายงาน  และชี้แจงเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการฝึกประสบการณ์  รวมถึงเมื่อนักศึกษามีปัญหา ร่วมกันเพื่อแก้ไข

–  ตรวจและลงนามรับทราบในสมุดบันทึกการฝึกประสบการณ์วิชาชีพของนักศึกษาและสมุดลงเวลาทุกวัน  พร้อมทั้งให้ข้อเสนอแนะ  ถ้านักศึกษาคนใดขาดการปฏิบัติงานติดต่อกัน  3  วัน  ขอความอนุเคราะห์แจ้งให้วิทยาลัยทราบโดยทันที

–  ประเมินผลการฝึกประสบการณ์วิชาชีพของนักศึกษาตามแบบประเมินผลนำส่งวิทยาลัย